นายวีรชัย พัชโรภาสวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานการตลาดและงานขาย กลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส และนางเจนจิรา ประยูรรัตน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศไทย” พร้อมนำ Digital Platform ร่วมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยในทุกๆ ด้าน ให้มีความสามารถในการแข่งขันที่ดียิ่งขึ้นไปอีกด้วยการส่งเสริมด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถเกี่ยวกับธุรกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง พร้อมนำความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและเทคโนโลยีต่าง ๆ ของเอไอเอส เช่น Cloud, IoT, Network, Mobility, Security ฯลฯ มาสนับสนุนและต่อยอดการพัฒนาซอฟต์แวร์ของสมาชิก ATSI อย่างเต็มที่ รวมถึงการเข้าถึงโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ ให้กับผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0 ให้ขยายวงกว้างยิ่งขึ้นทั้งในและต่างประเทศ
วีรชัย พัชโรภาสวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานการตลาดและงานขาย กลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า “เทคโนโลยีมีบทบาททั้งในการใช้ชีวิต และการทำธุรกิจ ไม่มีองค์กรไหนที่ทำธุรกิจโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้นเมื่อมีคอมพิวเตอร์ที่เป็น Hardware แล้ว ก็ต้องมี Software หัวใจสำคัญที่จะเข้ามา Run ระบบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น การเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล จัดการระบบโลจิสติก และอื่น ๆ อีกมากมาย การร่วมมือกับ ATSI ครั้งนี้เป็นการร่วมกันนำความขีดความสามารถมายกระดับวงการซอฟต์แวร์ไทย และกระตุ้นให้พัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม จากเอไอเอสในฐานะผู้ให้บริการ คือ Infrastructure และระบบ Cloud ในขณะเดียวกัน ATSI ก็รวบรวมซอฟต์แวร์จากผู้ผลิตและนักพัฒนาทั่วประเทศ นอกจากนี้ ความร่วมมือครั้งนี้คือการเชื่อมต่อความต้องการของกลุ่มธุรกิจที่เป็นพาร์ทเนอร์ และกลุ่มผู้ผลิตซอฟต์ ให้เกิดการพัฒนาที่ตรงจุด และตอบโจทย์ตลาดมากที่สุด นับเป็นการร่วมกันผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้เติบโต และพร้อมที่จะขยายตลาดสู่ระดับโลกในอนาคต”
นางเจนจิรา ประยูรรัตน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI) กล่าวว่า “ปัจจุบันวงการซอฟต์แวร์ในประเทศไทยตื่นตัวมาก มีผู้ผลิตและพัฒนามากกว่า 600 ราย สมาคมฯ มองว่าวงการซอฟต์แวร์ยังมีช่องทางให้สามารถเติบโตไปได้อีกมาก โดยเฉพาะในยุคที่ทุกอุตสาหกรรม เร่งนำเทคโนโลยีมาใช้ ส่วนหนึ่งก็คือซอฟต์แวร์ ซึ่งเข้ามาขับเคลื่อนตั้งแต่ระบบการทำงานใหญ่ อาทิ Enterprise Resource Planning หรือระบบย่อย อาทิ การซื้อขาย ทำสต็อกสินค้า การเงิน ภาษี เป็นต้น วันนี้ศักยภาพของซอฟต์แวร์ไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้น ด้วยคุณภาพ ความหลากหลาย ครอบคลุม ทันสมัย ตอบโจทย์การทำธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันก็มีราคาสมเหตุสมผล เรามองว่าปัจจัยที่จะสนับสนุนต้องมาจากทั้งภาครัฐ และเอกชน ซึ่งความร่วมมือกับเอไอเอสครั้งนี้ เป็นโอกาสของสมาคมฯ ที่จะได้นำบริการต่าง ๆ ของเอไอเอสมาต่อยอดการพัฒนา ซึ่งท้ายที่สุดแล้วผลลัพธ์จะตกอยู่ที่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นลูกค้าของทั้งสองฝ่าย”